เรา...คนไทยจะช่วยชาติอย่างไรในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
อันเนื่องมาจากปัญหาความล้มเหลว
ในภาคการเงิน ประกอบกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและปัญหาอื่น
ๆ อีกมากมายซึ่งสะสมเรื้อรังมาเป็น
เวลายาวนาน ประชาชนคนไทยในฐานะภาคครัวเรือนอันเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ
สามารถช่วย
แก้ไขภาวะวิกฤตนี้ได้
หากเราเริ่มรู้จักบริหารการเงินของตนเองให้มีประสิทธิภาพ
การบริหารการเงินของตนเองเป็นการรู้จักหารายได้เข้ามาและจัดสรรเป็นรายจ่ายออกไปอย่างมี
ประสิทธิภาพ เพื่อให้เรามีความมั่นคงทางการเงินและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
หากประชาชนมีฐานะทาง
การเงินที่ดี ย่อมช่วยให้เกิดการออมและการลงทุนมากขึ้น
ขณะเดียวกัน รัฐก็จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี
มากขึ้นและยังประหยัดงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมลงไปอีกทาง
หัวใจของการบริหารการเงินระดับบุคคล
คือ การวางแผนรายรับรายจ่ายของตนเองให้สอดคล้องกัน
โดยในขั้นแรก เราต้องรู้จักประมาณรายได้ที่จะได้รับในแต่ละเดือน
พิจารณาว่าจะมีรายได้จากทางใด
บ้าง แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันจะไม่เอื้ออำนวยต่อการหารายได้ของบุคคล
แต่ยังมีรายได้พิเศษจาก
แหล่งอื่น ๆ อีกถ้าเรารู้จักค้นหาเช่น
งานPart-time งานอดิเรกที่ก่อให้เกิดรายได้ โดยเฉพาะงานอดิเรกนั้น
หากมีลู่ทางเหมาะสมและตั้งใจทำอย่างจริงจังแล้ว
จะให้รายได้สูงจนเป็นอาชีพหลักเลยทีเดียว
ขั้นต่อมา
คือ การวางแผนรายจ่ายของตนเองในแต่ละเดือนโดยให้พอเพียงกับรายได้ที่จะได้รับ
แม้ว่าผลกระทบจากค่าเงินบาทลอยตัว
จะทำให้ราคาสินค้าและบริการขยับตัวสูงขึ้น แต่เราไม่อาจปฏิเสธ
ความจริงที่ว่า รายได้ของคนไทยส่วนใหญ่
หมดไปกับการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งมักเป็นสินค้ามียี่ห้อ
และมีราคาแพงที่นำเข้าจากต่างประเทศ
จนเราได้ชื่อว่าเป็นนักซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยติดอันดับต้น ๆ ของโลก
ประเทศไทยต้องเพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้าเหล่านี้ทุกปี
ซึ่งนอกจากจะทำให้การขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นแล้ว
ยังส่งผลให้ผู้ประกอบการภายในประเทศต้องประสบกับภาวะขาดทุน
และขาดโอกาสในการพัฒนาสินค้า
ของตนเองให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกับระดับโลกอีกด้วย
ทุกวันนี้ ค่านิยมของคนไทยรุ่นใหม่ถูกผูกติดกับ
ความมีรสนิยมทางสังคม
ทำให้พยายามใฝ่หาวัตถุมาเพื่อเชิดชูตนเองโดยไม่คำนึงว่าจะมีกำลังทรัพย์
เพียงพอหรือไม่
ทั้งที่โดยพื้นฐานของสังคมไทยแล้ว เรามีวัฒนธรรมการมัธยัสถ์มาแต่โบราณ
แต่คน
รุ่นใหม่กลับละเลยไป
จึงจำเป็นที่จะต้องปลุกจิตสำนึกในการประหยัดให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
โดยการเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ ไม่ยึดติดกับวัตถุนิยมอีกต่อไปและหันมาตระหนักในคุณค่าของเงิน
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเหมือนอย่างเรา แต่เขาจะรู้จักผลิตสินค้าที่มีราคาแพงมา
ขายให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเรามากกว่า
เราจึงต้องรู้จักเลือกซื้อของให้เหมาะสมกับฐานะตนเอง งดเว้นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นบ้าง
เช่น รายจ่ายในการสังสรรค์ตามสถานที่หรูหรา รู้จักหมุนเวียนสิ่งของที่
ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่(Recycle)
และที่สำคัญคือ การเลือกบริโภคผลผลิตที่เกิดขึ้นโดยคนไทยซึ่งมีคุณภาพ ทัดเทียมกับสินค้าต่างประเทศ
จะช่วยส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศและป้องกันเงินตราไหลออกนอกประเทศ อีกด้วย
หลังการวางแผนรายรับรายจ่ายแล้ว
หากยังมีรายได้ส่วนเกินอยู่ ให้รีบกันไว้เป็นเงินออมแล้วนำ
ไปลงทุนหาผลประโยชน์ทันที
เพื่อป้องกันการใช้จ่ายเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้การนำเงินออมไปหาผลประโยชน์
นั้น ทำได้หลายทาง เช่น
การฝากธนาคาร การซื้อบัตรเงินฝาก หรือการทำประกันชีวิต ซึ่งล้วนแต่เป็นการ
ออมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ
เราไม่ควรนำเงินไปลงทุนนอกระบบ เช่น
การเล่นแชร์ หรือการเล่นหวยใต้ดิน
เพราะถือเป็นเงินออมนอกระบบ ไม่ช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจดีขึ้น
แต่อย่างใด
ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภาวะเงินตึงตัวซึ่งเกิดจากเงินออมมวลรวมไม่พอเพียง
ต่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
และถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปอีก จะพบว่า สัดส่วนเงินออมภาคครัวเรือน
เทียบต่อ เงินออมมวลรวม
มีแนวโน้มลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ หากประชาชนมีการออมเงินมากขึ้นแล้วย่อม
ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเงินออมและลดช่องว่างของการลงทุนกับการออมลงทำให้ภาคเอกชนลด
การพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศซึ่งมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศอีกด้วย
อีกข้อที่ควรคำนึงถึง
คือ การอย่าหวั่นไหวต่อข่าวลือ เพราะข่าวลือนั้นมีความเลื่อนลอย อาจเป็น
จริงหรือเท็จก็ได้ เราจึงควรมีวิจารณญาณเป็นของตนเอง
อย่าฟังความข้างเดียว การตื่นตระหนกแล้วด่วน
ตัดสินใจนั้น ไม่ก่อผลดีทั้งต่อตนเองและระบบเศรษฐกิจ
เราต้องไตร่ตรองให้ละเอียดถี่ถ้วนโดยค้นหา
หลักฐานข้อเท็จจริงมาพิจารณาประกอบก่อนที่จะสรุปความหรือกระทำการอย่างใดลงไป
หากเราไม่เริ่มบริหารการเงินของตัวเราเองแต่วันนี้ก็เหมือนกับปล่อยให้ชีวิตลอยตามกระแสวิกฤต
ทางเศรษฐกิจ การบริหารการเงินระดับบุคคลจะช่วยสร้างระเบียบและเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน
ทำให้
ภาคครัวเรือนมีความแข็งแกร่งทางการเงินสูงขึ้น
และจะช่วยผลักดันให้หน่วยเศรษฐกิจอื่น ๆ อันได้แก่
ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน
และภาครัฐบาล ผ่านพ้นภาวะวิกฤต ยังผลให้ระบบเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะสมดุล
ได้โดยเร็ว.